วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554



 ป่าพรุเป็นป่าไม้ไม่ผลัดใบที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลักษณะเป็นแอ่งกระทะมีน้ำท่วมขังตลอดปี มีพรรณไม้ของป่าดงดิบชื้นขึ้นหนาทึบพื้นป่ามีซากอินทรีย์วัตถุที่ไม่สลายตัวทับถมกันหนาประมาณ 50-200 ซ.ม. เรียกว่า Peat Bog มีลักษณะเป็นดินหยุ่น ๆ ที่เป็นกรดสูง ส่งผลให้น้ำภายในป่าพรุกลายเป็นกรดจัดไปด้วย น้ำในป่าพรุเกิดจากการรองรับน้ำฝนเอาไว้มิใช่เกิดจากแม่น้ำลำคลอง น้ำที่ดูเหมือนหยุดนิ่งแท้จริงมีการไหลเอื่อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้มีปริมาณอากาศเพียงพอต่อรากไม้และสัตว์น้ำ
           ป่าพรุในประเทศไทยพบกระจายอยู่ในบางจังหวัด ทั้งเขตภูเขาสูงและที่ราบชายฝั่งทะเล เช่น พรุอ่างกาบนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่และป่าพรุที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุด คือ พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ครอบคลุมเนื้อที่ถึง 50,000 ไร่ นิเวศของป่าพรุถือเป็นแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 50 ชนิด เช่น จระเข้น้ำเค็ม เสือดำ นากใหญ่จมูกขน และสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากอย่าง แมวป่า หัวแบน นกประมาณ 200 ชนิด และสำรวจพบพืชดอกแล้วไม่ต่ำกว่า 109 วงศ์ 437 ชนิด ต้นไม้ในป่าพรุมีรากหายใจ พูพอน และรากค้ำยันซับซ้อน มีพืชสำคัญหลายชนิด อาทิ ตังหน อ้ายบ่าว หลุมพี ทองบึ้ง เถาวัลย์ หมากแดง กระพ้อ ระกำ และย่านลำเภา บนเรือนยอดไม้ยังมีพืชอิงอาศัยรูปร่างแปลกตาเกาะอยู่ทั่วไป เช่น เฟิร์นชายผ้าสีดา และกล้วยไม้สิงโตก้ามปูแดง กลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยจุนเจือชีวิตแก่ชาวบ้านในท้องถิ่น